ความคืบหน้างานมหกรรม Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ของทาง “ขัวศิลปะ”
ขัวศิลปะ เตรียมความพร้อมระดมศิลปินเชียงราย เร่งหารือและวางแผนจัดทำขบวนศิลปะร่วมสมัยเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้การเป็นเจ้าภาพจัด งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติไทยแลนด์ เบียนนาเล่, เชียงราย 2023 ระหว่างเดือน ธันวาคม 2566 – เมษายน 2566 โดยจะกำหนดจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2566
ปลายปี พ.ศ. 2566 การจัดงานศิลปะระดับโลก กำลังเกิดขึ้น ณ จังหวัดเชียงราย โดยแนวคิดการจัดขบวนศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 18 อำเภอจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ภายใต้แนวคิด “เปิดเชียงราย เปิดโลก 18 อำเภอ” ตามธีมหลักของการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่, เชียงราย 2023 คือ The open world “เปิดโลก” ตามที่ได้มีการแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 ณ วัดร่องขุ่น ซึ่งจะใช้แนวทางการดำเนินการที่คล้ายกับการจัดขบวนศิลปวัฒนธรรม ”เจียงฮายเกมส์” แต่จะมีการกำหนดรูปแบบและกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมและเข้ากับรูปแบบการจัดงานศิลปะครั้งนี้ให้มากขึ้นตามบริบทของงานศิลปะร่วมสมัย
แต่ยังคงแนวคิดที่จะให้ศิลปินเชียงรายประจำแต่ละอำเภอได้ทำงานร่วมกับชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน สถานศึกษาในแต่ละอำเภอที่ตนรับผิดชอบ สร้างสรรค์ขบวนออกมาในรูปแบบที่ร่วมสมัยมากขึ้น เพราะถือว่าครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากความสำเร็จที่เคยทำไว้เมื่อครั้งก่อน รวมถึงการวางรากฐานของขบวนศิลปะร่วมสมัยดังกล่าวจะต่อยอดไปสู่การจัดเทศกาลรูปแบบขบวนพาเหรดในระดับนานาชาติต่อไปอีกทุกๆ สองปี สามารถสร้างการรับรู้ สร้างรายได้ในเชิงท่องเที่ยวหรือรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์แก่พื้นที่จังหวัดเชียงรายในอนาคตอีกทางหนึ่ง
การจัดริ้วขบวนศิลปะร่วมสมัย 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2561 ครั้งเมื่อจังหวัดเชียงรายได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 “เจียงฮายเกมส์” โดยครั้งนั้นเป็นการร่วมมือร่วมใจของชาวเชียงรายที่ตั้งใจและพยายามจัดงานให้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำศิลปะและการกีฬามาผนวกกันได้อย่างลงตัว นับว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ใช้ศาสตร์แห่งศิลปะมาช่วยในการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์งานกีฬาแห่งชาติรวมถึงประชาชนชาวเชียงรายได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนั้นอย่างทั่วถึงทั้ง 18 อำเภอ
ขบวนศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 18 อำเภอ จึงกลายเป็นภาพจำของชาวจังหวัดเชียงราย นักท่องเที่ยว ที่ได้สัมผัสริ้วขบวนศิลปะแบบร่วมสมัยที่อลังการณ์ และแปลกใหม่ต่างจากขบวนวัฒนธรรมตามประเพณีต่างๆ ที่เคยจัดมาตามจารีตประเพณีอันดีงามของชาวล้านนา โดยขบวนได้ถูกรังสรรค์ขึ้นจากผลงานการออกแบบของศิลปินเชียงรายร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน สล่า คนในชุมชนของแต่ละอำเภอ เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่จะนำศาสตร์แห่งศิลปะร่วมสมัยผนวกกับประเพณี อัตลักษณ์ ตำนานของแต่ละพื้นที่ออกมาอย่างสวยงามและได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก ทั้งนี้แนวคิดและวิธีการดังกล่าว โดยศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ดำเนินการโดยสมาคมขัวศิลปะ และได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายอย่างดียิ่งอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน
อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะกล่าวว่า ทางสมาคมขัวศิลปะกำลังที่จะเร่งระดมศิลปินที่เคยทำงานในครั้งเมื่อกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 46 เจียงฮายเกมส์ เพื่อวางแผนการจัดริ้วขบวนศิลปะร่วมสมัยอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้รับคำชื่นชม ข้อเสนอแนะจากหลายภาคส่วนว่าต้องการอยากให้มีการจัดงานลักษณะนี้อีกทุกปี หรือทุกสองปี เพื่อจะได้ยกระดับเทศกาลหรือขบวนพาเหรดงานศิลปะให้เป็นงานระดับชาติและนานาชาติในอนาคต เพราะเชียงรายเองถือเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นทางด้านศิลปะ มีทรัพยากรทางด้านศิลปิน สล่าพื้นบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมประเพณี เป็นทุนเดิมของการต่อยอดทางด้านศิลปะอยู่แล้ว ตนเองจึงถือว่าครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีและเหมาะกับการที่เราจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานศิลปะระดับโลก ริ้วขบวนศิลปะ 18 อำเภอ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งสมาคมขัวศิลปะเองได้นำประเด็นดังกล่าวปรึกษาทางอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคม ซึ่งอาจารย์เองเห็นสมควรอยากให้เกิดขึ้นอีกครั้งและอาจจะปรับเปลี่ยนกระบวนการ วิธีการ กฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับแนวคิดของงาน และให้โอกาสสมาคมขัวศิลปะได้ดำเนินการกับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ทางส่วนกลางหรือท้องถิ่นจะสนับสนุนมาหากมีงบประมาณก็ให้ดำเนินการ แต่หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือหน่วยงานราชการก็อย่าทำ อาจารย์เฉลิมชัยฯ กล่าว…
ท้ายสุดอาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องศิลปิน และพี่น้องชาวเชียงรายติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งตนมั่นใจว่าปลายปีนี้กิจกรรมศิลปะต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้นจะทำให้เชียงรายกลับมาคึกคัก และเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ และฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติของโควิด-19 สมกับแนวคิดของงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติฯ ครั้งนี้คือ The open world หรือการ “เปิดโลก” นั่นเอง
ภาพ/ข่าว สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย https://www.facebook.com/Samnaknganprachasamphan/