ลำปางคว้า 2 รางวัลระดับประเทศ! การประกวดรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ระดับดี และ ระดับสมควรได้รับการเผยแพร่
[pvc_stats postid=”2651″ increase=”1″ show_views_today=”0″]


.
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 โดยในประเภท ก. งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน จังหวัดลำปาง ได้รับรางวัลถึง 2 แห่ง ได้แก่ “วิหารโคมคำ” วัดพระธาตุเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง ได้รับรางวัลในระดับดี และ “บ้านป่องนัก” ค่ายสุรศักดิ์มนตรี อ.เมือง จ.ลำปาง ได้รับรางวัลระดับสมควรได้รับการเผยแพร่ โดยทั้ง 2 แห่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าชมได้ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.) “วิหารโคมคำ” ได้รับรางวัลระดับดี
ตั้งอยู่ที่ วัดพระธาตุเสด็จ ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง วัดพระธาตุเสด็จเป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง ดังชื่อว่าวัดพระธาตุนั้นมีที่มาว่าเป็นวัดที่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ ในจังหวัดลำปางมีเพียง 2 วัด คือวัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดพระธาตุเสด็จ มีตำนานกล่าวว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี อุโบสถและวิหารต่างๆ เช่น วิหารสุวรรณโคมคำ (วิหารพระพุทธ) วิหารจามเทวี ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ ได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมดแต่ยังคงสภาพศิลปะโบราณให้เห็นได้อยู่จนปัจจุบัน


วิหารโคมคำ เป็นวิหารที่มีหลักฐานปรากฏประวัติการสร้างในเอกสารประวัติศาสตร์พงศาวดารสุวรรณหอคำนครลำปาง ซึ่งกล่าวว่า พระเจ้าหอคำดวงทิพย์เจ้าผู้ครองนครลำปางและราชเทวี ได้สร้างวิหารหลังนี้ขึ้นในปีพุทธศักราช 2366 โดยให้ชื่อวิหารหลังนี้ว่า วิหารโคมคำ และถวายนามพระพุทธรูปประธานในวิหารว่า “พระพุทธรูปพระธาตุเสด็จ” โดยวิหารที่มีลักษณะโถงแบบล้านนาเปิดกว้าง แต่ด้วยผ่านกาลเวลามาเป็นเวลานาน ในปีพุทธศักราช 2500 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ขึ้น ซึ่งได้มีการก่อผนังวิหารขึ้นมาปิดบริเวณวิหารโดยรอบ ทำให้รูปแบบวิหารเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นวิหารแบบปิดดังปรากฏในปัจจุบัน ลักษณะภายนอกของวิหารโคมคำมีลักษณะเป็น
หลังคาซ้อน 3 ชั้นประกอบด้วย ช่อฟ้า บ้านลม หน้าแหนบ โก่งคิ้ว แผงแล ปากแล และบ่าง มีลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบล้านนาชัดเจน โดยในภายในวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปพระธาตุเสด็จเป็นประธานบนฐานชุกชี วิหารมีเสาไม้กลมขนาดใหญ่ประดับตกแต่งลวดลายอย่างงดงามลวดลายที่ปรากฏเป็นรูปแบบงานวิจิตรกรรมที่เรียกว่า “ลายคำ” สวยงามน่าชม นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัดดังกล่าวยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิเช่น องค์พระธาตุเสด็จ ที่ตั้งตระหง่านกลางวัดมีความสวยงามลักษณะเด่นแบบล้านนาด้านในมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ เจ้าพ่อกุมภัณฑ์สองพี่น้อง ที่ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าขอพรเรื่องหน้าที่การงานมักประสบความสำเร็จดังหวัง รวมไปถึง พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุเสด็จ ที่รวบรวมสิ่งของทั้งพระเครื่องโบราณ พระพุทธรูปโบราณ คัมภีร์ใบลาน เครื่องมือเครื่องใช้เก่าแก่ไว้ในสถานที่แห่งนี้
การเดินทาง : เดินทางไปตามเส้นทางลำปาง-งาว จากตัวเมืองลำปาง ประมาณ 19 กิโลเมตร แยกซ้ายตรงกิโลเมตรที่ 617-618 เข้าไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร


.
2.) “บ้านป่องนัก” ได้รับรางวัลระดับสมควรได้รับการเผยแพร่
ตั้งอยู่ในเขตค่ายสุรศักดิ์มนตรี อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ดูแลโดยทหารมีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งเปิดบริการให้ประชาชนสามารถเข้าไปชมได้ โดย บ้านป่องนัก นั้นสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2468 โดยกรมยุทธการทหารบก และควบคุมการก่อสร้างโดยพันโท พระมหาณรงค์เรืองเดช ผู้บังคับกองทัพที่ 1 กรมทหารราบที่ 17 ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างไปกว่า 16,000 บาท เพื่อเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลพายัพ แลเป็นที่ทรงประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ ในปีพ.ศ.2501 โดยคำว่า “ป่อง” เป็นภาษาคำเมือง แปลว่า “ช่อง” คำว่า “นัก” หมายถึง จำนวนมาก ดังนั้นคำว่า “บ้านป่องนัก” จึงหมายถึง บ้านที่มีช่องหน้าต่างจำนวนมาก


ตัวบ้านสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมยุโรปแบบคลาสสิค สมัยกรีกผสมสถาปัตยกรรมไทย มีลักษณะเป็น อาคารไม้ 2 ชั้นยกพื้นเตี้ย มีหน้ามุขแบบ 5 เหลี่ยม จำนวน 5 มุข มีช่องลมลายฉลุที่เรียกว่าขนมปังขิง (gingerbread) หน้าต่าง เป็นบานเกล็ดไม้อยู่รายล้อมรอบบ้าน มีจำนวนมากถึง 250 บาน และมีช่องหน้าต่างกว่า 469 ช่อง มีบันไดจำนวน 2 บันได ได้แก่ บันไดด้านหน้าสำหรับเจ้านาย ส่วนบันไดด้านหลัง สำหรับข้าราชบริพาร ภายในบ้านป่องนักได้มีการแสดงเรื่องราวความเป็นมาของจังหวัดลำปาง และศิลปวัฒนธรรม ตลอดทั้งอาวุธยุทธภัณฑ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเครื่องใช้สมัยสงครามและของทหารกล้าในอดีตในแต่ละสมรภูมิ อีกทั้งเครื่องใช้ส่วนพระองค์อีกจำนวนหนึ่ง ภายในบ้านยังคงสภาพห้องทรงงาน ห้องเสวย ห้องบรรทม ซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเกิดความภาคภูมิใจ นอกจากนี้ปัจจุบัน บ้านป่องนัก ยังมีจัดให้มีจุดถ่ายภาพที่สวยงามเข้ากับยุคสมัย รวมไปถึงจัดให้มีร้านกาแฟบริการ สามารถจิบกาแฟชมบรรยากาศความสวยงามของบ้านป่องนักไปด้วยได้ตามโต๊ะเก้าอี้ที่จัดไว้ให้
การเดินทาง : เดินทางไปตามเส้นทางลำปาง-งาว จากตัวเมืองลำปาง ประมาณ 4 กิโลเมตร จะพบค่ายสุรศักดิ์มนตรี อยู่ตรงข้ามกับ โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี


ททท.สำนักงานลำปาง ขอแสดงความยินดี กับ “วิหารโคมคำ” วัดพระธาตุเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง และ “บ้านป่องนัก” ค่ายสุรศักดิ์มนตรี อ.เมือง จ.ลำปาง ที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ในประเภท ก. งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ซึ่งได้รับรางวัล “ระดับดี” และ “ระดับสมควรได้รับการเผยแพร่” จาก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มา ณ ที่นี้ด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานลำปาง โทรศัพท์ 054-222214 โทรสาร 054-222216 Email address: tatlampang@tat.or.th ติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมทางการท่องเที่ยวได้ที่แฟนเพจ : ททท.สำนักงานลำปาง และ เว็บไซด์ www.tourismlampang-lamphun.com